แผงมอส ปอดเคลื่อนที่ของชุมชนเมือง

สิ่งแวดล้อม, สุขภาพ, เทคโนโลยี
Images courtesy of Green City Solutions.

Green City Solutions สร้างนวัตกรรมใหม่ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆเมืองทั่วโลก แทนการปลูกต้นไม้ซึ่งต้องใช้เวลาในการเติบโตนาน พวกเขาได้พัฒนาระบบติดตั้งเคลื่อนที่ แผงที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้

แนวคิดออกแบบสำหรับเมืองแห่งอนาคตมักเกี่ยวข้องกับแนวคิดหลายอย่างที่ท้าทายบรรทัดฐานในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมการวางผังเมืองหรือวัสดุในทางวิศวกรรม 

บริษัท Green City Solutions ในกรุงเบอร์ลิน ได้พัฒนาแผงมอสขึ้นมา ซึ่งมันทำหน้าที่เหมือนเป็นต้นไม้กลางเมือง ในชื่อ CityTree เพื่อกรองอากาศ เนื่องจากต้นไม้ต้องใช้เวลาในการเจริญเติบโตนาน CityTree จึงหันมาใช้พืชมอสแทน

“มอสเป็นพืชดักมลพิษในอากาศเช่นไนโตรเจนออกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์  และจะคายออกซิเจนที่มีประโยชน์ออกมา ในขณะเดียวกันช่วยทำให้อากาศรอบๆเย็นลง ” จากเว็บไซต์ของบริษัท แต่ละแผงจะกว้าง 3 เมตร (9.84 ฟุต) สูง 4 เมตร (13.12 ฟุต) และลึก 2.19 เมตร (7.19 ฟุต)

สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับ CityTree คือ มันให้ประโยชน์เทียบเท่ากับต้นไม้ถึง 275 ต้น สามารถดูดซับฝุ่นละอองได้ 250 กรัมต่อวันและสามารถขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 240 เมตริกตันต่อปี

“มอสมีพื้นที่บนผิวใบที่ใหญ่กว่าพืชอื่นๆ นั่นหมายความว่าเราสามารถจับสารมลพิษได้มากขึ้น” นายเจิ้งเลียง วู ผู้ร่วมก่อตั้ง Green City Solutions ได้กล่าวกับซีเอ็นเอ็น วูเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่คิดค้นแนวคิดนี้และวางระบบ CityTree ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อสี่ปีก่อน

แต่ละจุดที่ตั้ง มีเซ็นเซอร์ซึ่งสามารถวัดคุณภาพอากาศรอบๆได้ เนื่องจาก CityTree ใช้พื้นที่ค่อนข้างน้อยและสามารถตั้งได้อย่างกลมกลืนในสวนสาธารณะ (มีม้านั่งติดตั้งมาด้วย) CityTree ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นแผงที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า (ต้นทุนประมาณ 25,000เหรียญหรือประมาณ 845,000บาท ต่อการติดตั้งในแต่ละจุด) เพื่อฟอกอากาศ

มลพิษทางอากาศทั่วโลกยังคงเป็นปัญหาใหญ่ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้งข้อสังเกต – โดยเฉพาะในเขตเมือง ด้วยเหตุนี้ City Trees ได้ติดตั้ง “แผงมอส” แล้วประมาณ 20 จุดในเมืองต่างๆทั่วโลกเช่น ออสโล,ปารีสและฮ่องกง CityTrees กำลังเริ่มติดตั้งในเมือง Modena ประเทศอิตาลีและวางแผนที่จะเปิดตัวในประเทศที่มีรายได้น้อยแต่มีมลพิษทางอากาศสูงเช่นอินเดีย “เป้าหมายสูงสุดของเราคือการรวมเทคโนโลยีจาก CityTree เข้ากับตัวอาคาร” วูกล่าว “เราฝันที่จะพัฒนาโครงสร้างที่สามารถกำหนดสภาพอากาศและอุณหภูมิในเมืองได้”

 

 

ที่มา: Futurism
เรียบเรียง: SignorScience