ทำไมเราถึงฝัน ?

สุขภาพ

ในช่วง 2,000 ปีก่อนปฏิทินปัจจุบัน กษัตริย์ยุคเมโสโปเตเมีย ได้บันทึกการแปลความหมายความฝันของพวกเขา ลงบนแผ่นจารึกที่ทำจากขี้ผึ้ง หลังจากนั้น 1,000ปีต่อมา อียิปต์โบราณ ได้เขียนหนังสือความฝัน ที่บันทึกเรื่องความฝันทั่วไปมากกว่าร้อยเรื่องและความหมายของพวกมัน 


นับแต่นั้นเป็นต้นมา เรายังไม่หยุดการค้นหา เพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมเราถึงฝัน

หลังจากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย ,ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความอุตสาหะ เรายังคงไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่มีทฤษฎีหลายอย่างที่น่าสนใจ

1. เราฝันเพื่อเติมเต็มความปรารถนาของเรา

ในช่วงต้นปี 1800 ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้กล่าวว่า ขณะที่ความฝันของเราทุกอย่าง รวมถึงฝันร้าย เป็นการรวบรวมภาพของสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันตอนที่ตื่นอยู่ พวกมันยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเติมเต็มความปรารถนาในจิตใต้สำนึกของเรา เช่น อำนาจ ความปลอดภัย และ ความเข้มแข็ง 

ฟรอยด์ได้สร้างเป็นทฤษฎีว่า ทุกอย่างที่เราจำได้เมื่อตื่นขึ้นมาจากความฝัน เป็นตัวแทนทางสัญลักษณ์ของความคิดที่อยู่ใต้จิตสำนึก หรือความคิดพื้นฐานของเรา ที่ผลักดันและมีความต้องการ เช่น ฝันเห็นรูปสุนัขหางตก คือ ความกลัว, รองเท้า คือ ความเข้มแข็ง, ฟันผุ คือ ความไม่ปลอดภัย , ผู้หญิงอ้วน คือ แม่ของคุณ, หมวก คือ สถานะภาพ , เทียนที่กำลังละลายในเปลวไฟ คือ ความใคร่ 

ฟรอยด์เชื่อจากการวิเคราะห์เนื้อหาจากจิตใต้สำนึกที่เราจำได้เหล่านั้น ว่าเป็นการเปิดเผยเรื่องที่อยู่ใต้จิตสำนึกของเราให้ได้รู้เวลาที่ตื่นขึ้นมา และปัญหาทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นจากการเก็บกดเอาไว้ เช่น ความหดหู่ ความเศร้าใจ ความกลัว อาจถูกจัดการและแก้ไขได้

2. เราฝันเพื่อที่จะจดจำ

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานเฉพาะอย่างของจิตใจ การนอนหลับเป็นสิ่งที่ดี แต่การฝันขณะที่นอนเป็นสิ่งที่ดีกว่า ในปี 2010 นักวิจัยค้นพบว่าผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถผ่านทางวกวนที่ซับซ้อนแบบ 3 มิติได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขางีบหลับ และฝันถึงเส้นทางนั้นก่อนที่จะพยายามเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งพวกเขาทำได้ดีขึ้นเป็น 10 เท่า และมากกว่าคนที่แค่คิดถึงเส้นทางนั้นในขณะที่ตื่นอยู่ หรือคนที่หลับแต่ไม่ได้ฝันถึงเรื่องนี้ นักวิจัยสร้างทฤษฎีว่ากระบวนการในความจำเฉพาะเรื่อง จะเกิดขึ้นเมื่อเราหลับเท่านั้น และความฝันเป็นสัญญานให้รู้ว่าขั้นตอนนี้กำลังเกิดขึ้น

3. เราฝันเพื่อให้ลืม

มีเส้นประสาทประมาณหมื่นล้านล้านเส้น ที่เชื่อมต่อกันภายในโครงสร้างของสมองเรา พวกมันถูกสร้างมาจากทุกอย่างที่คุณคิดและกระทำ ในปี 1983 ทฤษฎีประสาทชีววิทยาเกี่ยวกับความฝัน ที่เรียกว่า การเรียนรู้แบบพลิกกลับ ( Reverse learning) กล่าวว่า ในขณะที่นอนหลับ และส่วนใหญ่คือในช่วงการหลับระดับ REM (Rapid Eye Movement) ,เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลับแต่สมองยังคงทำงานอยู่ สังเกตได้จากลูกตาที่กรอกไปมาใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่ เป็นช่วงที่สมองจะทำการประมวลผลและอาจจะสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราเกิดการฝัน, สมองจะเผยให้เห็นการเชื่อมต่อของประสาทต่างๆ และทิ้งสิ่งที่ไม่สำคัญออกไป ถ้าปราศจากขั้นตอนนี้ ซึ่งมีผลคือความฝันของเรา สมองจะล้นไปด้วยการเชื่อมต่อที่ไม่มีประโยชน์ และความคิดที่เป็นกาฝากเหล่านี้จะทำให้สิ่งที่เราจำเป็นต้องคิดขณะที่ตื่น เกิดความยุ่งเหยิง

4. เราฝันเพื่อให้สมองได้ทำงาน

ทฤษฎีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ( Continual activation theory) กล่าวว่า ความฝันเกิดจากการที่สมองต้องการเก็บรวบรวมความจำอย่างต่อเนื่อง และสร้างความจำระยะยาว เพื่อที่จะทำงานได้อย่างเหมาะสม เมื่อข้อมูลที่ป้อนเข้ามาจากภายนอกลดลงจากระดับเดิม เช่นเมื่อเวลาเราหลับ สมองจะเริ่มการสร้างข้อมูลจากความทรงจำของเราโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะปรากฎกับเราในรูปแบบของความคิด และความรู้สึกที่เราประสบในความฝัน พูดอีกแง่คือ ความฝันเป็นโปรแกรมการรักษาการทำงานของสมองให้ทำงานอยู่ เหมือนสกรีนเซฟเวอร์ในคอมพิวเตอร์ที่ไม่ทำให้เครื่องปิดไป

5. เราฝันเพื่อฝึกซ้อม

ความฝันที่เกี่ยวกับสถานการณ์ที่อันตราย หรือมีภัยคุกคาม เป็นเรื่องปกติ ทฤษฎีการฝึกซ้อมสัญญาณพื้นฐาน (primitive instinct rehearsal theory) กล่าวว่า เนื้อหาในความฝันมีความสำคัญกับจุดประสงค์ของมัน ไม่ว่าความกังวลเมื่อถูกสัตว์ร้ายไล่ตาม หรือต่อสู้กับนินจาในที่มืดๆ ความฝันเหล่านี้จะปล่อยให้เราได้ฝึกการต่อสู้ หรือฝึกสัญชาตญาณการหลบหนี เพื่อให้มีฉลาดและวางใจได้ เผื่อว่าจำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องที่ไม่น่าพอใจเสมอไป ตัวอย่างเช่น การฝันถึงคนที่คุณหลงไหล ทำให้คุณได้ฝึก สัญชาตญาณของการมีคู่ด้วย

6. เราฝันเพื่อการบำบัด

ตัวสื่อประสาทเกี่ยวกับความเครียดในสมอง จะทำงานลดลงในช่วงการนอนนอนในระดับ REM ถึงแม้จะประสบกับความฝันที่ชอกช้ำ เจ็บปวด ทำให้นักวิจัยบางคนสร้างทฤษฎีว่าจุดประสงค์ของการฝัน คือการทำให้ประสบการณ์ของความเจ็บปวดลดลงเพื่อให้มีการบำบัดทางจิตวิทยา การให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในความฝันด้วยความเครียดที่น้อยกว่า อาจทำให้คุณมีมุมมองที่ชัดขึ้น และ มีความสามารถในการประมวลผลความเจ็บปวดเหล่านี้เพิ่มขึ้นในตอนที่มีสุขภาพจิตที่ดี คนที่มีอารมณ์ที่ผิดปกติ และมีความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ บ่อยครั้งที่นอนหลับยาก ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า การขาดการฝัน อาจมีส่วนที่เป็นปัจจัยให้เกิดความป่วยทางจิตนี้

7. เราฝันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา

การไม่มีข้อจำกัด และกฎระเบียบของตรรกะแบบเดิมๆในความฝันของคุณ จิตใจของคุณสามารถสร้างสถานการณ์ที่ไร้ขีดจำกัด เพื่อช่วยให้เราเข้าใจปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจไม่ได้นึกถึงในขณะที่ตื่นอยู่ จอห์น สไตน์เบ็ค เรียกมันว่า ” the Committee of Sleep” และการวิจัยได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการฝันในการแก้ปัญหา มันยังเป็นวิธีที่นักเคมีชื่อดัง อาวกุสท์ เกคุเล่ ค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของเบนซิน และเป็นเหตุผลที่ว่า บางครั้งทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหา ก็คือ การหลับทับมัน

นี่เป็นเพียงไม่กี่ทฤษฎีที่โดดเด่นกว่าทฤษฎีอื่น เพราะเทคโนโลยีได้เพิ่มความสามารถของเราในการทำความเข้าใจเรื่องสมอง มันเป็นไปได้ว่าวันหนึ่ง เราจะค้นพบเหตุผลที่ชัดเจนเรื่องการฝัน แต่จนกว่าจะถึงเวลานั้น เราก็คงยังต้องฝันไปเรื่อยๆก่อน

 

 

ที่มา: TED-Ed
เรียบเรียง: SignorScience